วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

"ดิฉันไม่ใช่นักเขียน"

Chalee / writer

“ดิฉันไม่ใช่นักเขียน”                

กาลครั้งหนึ่ง...เมื่อตอนกำลังเป็นสาวรุ่นดรุณีนั้น “ขวัญเรือน” เป็นนิตยสารรายปักษ์ที่ซื้ออ่านประจำ  นอกจากมีตำราอาหารกับเย็บปักถักร้อยแล้วยังมีนิยายให้ได้อ่านหลายเรื่องด้วย กัน  เรื่องที่เราติดอกติดใจและจำได้อยู่ทุกวันนี้คือเรื่อง “ถ้าฟ้าคำรณ” โอ๊ย....อ่านสนุกมาก นิยายหรืองานเขียนเรื่องไหนที่ออกแนวลึกลับแนวสืบสวนสอบสวนแล้วละก็ก็จะชอบ เป็นพิเศษเลยแหละ    แต่ด้วยความที่เราเป็นผู้หญิงนะ ในขณะนั้นก็ได้อ่านหนังสือ “ดิฉัน” ด้วยแต่ไม่ได้ซื้อเองหรอกนะคะขอยืมญาติที่เขารับอยู่ประจำมาอ่านค่ะ (ประหยัดดี) ส่วนพวกหนังสือพิมพ์ก็จะมีฐานเศรษฐกิจกับบางกอกโพสต์ที่ญาติผู้ใหญ่เขารับมา อ่าน ที่ทำงานก็จะมีหนังสือพิมพ์แนวแบบนี้เสียส่วนใหญ่เพราะเจ้านายต้องอ่านทุก เช้า  วันไหนอยากอ่านก็ไปหยิบมาเปิดๆ ดู...โว๊ะ! มีแต่ข่าวการลงทุน ข่าวนักธุรกิจไม่เห็นจะน่าอ่านเลยโดยเฉพาะบางกอกโพสต์นนั้นไม่ถูกกันเลยค่ะ เพราะเราเป็นโรคแพ้ภาษาอังกฤษ  ชีวิตของคนเราส่วนมากบนโลกใบนี้อยู่กับการ อ่าน  ดังนั้นจึงมีคนส่วนน้อยกว่ามากที่มีชีวิตอยู่กับการเขียน
 
ทีมงานได้แจ้งให้ทราบว่าขอให้เขียนบอกเล่าประวัติหรือความรู้สึกนึกคิด สั้นๆ มาลงไว้หน่อย เราก็ตอบกลับทันทีว่าได้เลยสบายมากเรื่องแค่นี้จิบๆ ชิวๆ  แต่พอตั้งท่าเขียนจริงๆ กลับไม่ง่ายนะเพราะการจะแนะนำตัวเองนั้นต้องคิดก่อนว่าจะสื่อสารแบบใดให้ผู้ อ่านๆ แล้วรู้สึกว่าเราเป็นเรา มองเห็นตัวเราว่าเป็นคนปกติไม่เข้าข่ายเฟื่องหรือ โอเวอร์  เพื่อไม่ให้เป็นการผิดนโยบายของทีมงานที่น่ารักเราก็จะแนะนำตัวเอง (ฝากเนื้อฝากตัว) แบบชัดเจนตรงไปตรงมาเลยค่ะว่า ดิฉันชื่อปัญจ์ชาลี  อรชุนวงศ์ เกิดวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2509 เป็นลูกคนที่ 3 จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด 4 คน เป็นคนช่างพูดเป็นคนมีบุญมาแต่กำเนิดเพราะเกิดมาเสียงดังฟังชัด (ฉายาแปดหลอด) แต่ไม่ค่อยชอบการเขียน เราพูดเก่งมากที่จริงต้องใช้คำว่าพูดมากจึงจะถูกส่วนจะฟังได้สาระหรือไม่ นั้นอีกประเด็นหนึ่ง  เวลาใครเขาตั้งวงสนทนากันอยู่ก่อนเมื่อเราไปถึงเราจะพูดๆๆ พอสักพักทุกคนก็จะเงียบและหันมาสนใจเรา คงไม่ใช่เพราะเราพูดดีมีสาระกว่า หรอกค่ะที่เขาต้องหยุดกันนั้นน่าจะเป็นเพราะเสียงเราดังกว่า การพูดก็เร็วกว่าแถมมีแอคติ้งในการพูดเป็นการดึงดูดความสนใจ การพูดและการ เขียนในมุมมองสำหรับเรานั้นจึงต่างกันมากในด้านของการนำเสนอ  การพูดมีตัวช่วยทำให้คนสนใจสิ่งที่เราต้องการสื่อสารได้มากกว่าการเขียน  แต่การเขียนอะไรออกมาให้คนอื่นอ่านจะต้องใช้ภาษาที่คนอ่านจินตนาการตามได้ การสื่อสารด้วยตัวอักษรจึงจะประสบผสสำเร็จ  ข้อดีของการเขียนคือเป็นหลักฐานทางความคิดที่เป็นลายลักษณ์อักษรและอ้างอิง ได้  หากถามว่าเคยคิดจะเป็นนักเขียนกับเขาไหม? ตอบได้เลยค่ะว่าไม่เคยคิดและคงไม่มีความสามารถถึงขนาดใช้คำว่านักเขียน แต่ถ้าถามว่าอยากเขียนไหม? ขอตอบทันทีว่าอยากเขียนค่ะ
 
การได้โอกาสมาเขียนบอกเล่าความรู้สึกนึกคิดและสิ่งที่เราชอบกับ Thai Good News นั้นบอกได้ว่าเป็นเรื่องที่เต็มใจมาก  อาจจะลังเลบ้างในช่วงแรกเพราะอาการมือใหม่แต่ดิฉันนั้นได้กำลังใจจากเพื่อน สนิทผู้หนึ่งได้คอยบอกว่าการเขียนนั้นต้องมีอะไรเป็นหลักบ้างและมีกำลังใจ มอบให้มามิได้ขาด มีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่งว่า “เรื่องราวดีๆ สักเรื่องหนึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเขียนจากนักเขียนชื่อดัง” ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากหนังสือ แจกฟรีสักเล่มจะให้แง่คิดหรือสิ่งที่คุณไม่เคยได้รับรู้มาก่อนจาก “ผู้เขียน” ที่ไม่ใช่ “นักเขียน” งานเขียนครั้งแรกไม่รู้จริงๆ ว่าจะเริ่มต้นแบบไหน จะเขียนเรื่องอะไร แต่เมื่อได้ตั้งใจแล้วก็ตัดสินใจว่าเราชอบเรื่องใด ถนัดเรื่องไหนก็เขียนเรื่องนั้น และที่สำคัญเราต้องมีความจริงใจและความรับผิดชอบนั่นคือเรื่องที่เขียนต้อง เป็นความจริง  เราจะเขียนสิ่งที่เราอยากบอกและสิ่งที่เป็นความปราถนาดีเพื่อให้ผู้อ่านได้ รับสิ่งดีๆ ต่อไปจึงได้ตัดกังวลในความมือใหม่ออกไป “งานเขียนดีเพราะมีคนได้อ่าน” และจะดียิ่งขึ้นหากมีผู้ได้ประโยชน์จากการอ่านนั้นด้วย
 
ขอขอบคุณทีมงานและผู้อ่านที่ให้โอกาสทุกท่านมา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ  หากมีข้อแนะนำหรือติชมประการใดกรุณาติดต่อมาทางอีเมล์ได้ค่ะจักขอบพระคุณ ยิ่ง

http://thaigoodnews.us/staff/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น